เอาใจเขามาใส่ใจเรา : ภูมิคุ้มกันความเห็นแก่ตัวที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

......เอาดวงใจของเขา ใส่ดวงใจของเรา แล้วจะรู้ว่าเขาคิดกะเรายังไง คิดอย่างโน่นอย่างนี้ คิดเอาเองเรื่อยไป เปิดประตูหัวใจให้ความจริงมันแง้ม....ออกมา…….
                   ท่อนหนึ่งของบทเพลง “แง้มใจ” หนึ่งใบบทเพลงอันไพเราะของวงคาราบาวที่ฟังคุ้นหู ไม่ใช่สิ...ติดหูเลยแหละ จำได้ว่าเป็นเพลงที่ได้ฟังครั้งแรกเมื่อตอนเข้าเรียนชั้น ม. 1 ซึ่งเป็นเพลงที่อาจารย์ฝ่ายปกครองท่านหนึ่งใช้ในการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ชั้น ม.1 และ ม.4 ที่ติดหูก็เพราะ ท่านเปิดตลอดทั้งวันที่มีโอกาส แถมมีเนื้อร้องแจกให้ร้องตามกันเลยทีเดียว ที่สำคัญท่านยังให้ข้อคิดที่ได้จากเพลง โดยสรุปแล้ว คือต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียดซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมเล็กๆ ที่เรียกว่าโรงเรียนนั่นเอง
                   หลายคนคงยังสงสัย เอาดวงใจของเขา ใส่ดวงใจของเรา หรือจะใช้ภาษาเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มันจะทำให้คนเราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนกัน หรือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้อย่างไรกันนะ...คำตอบคือ...เราลองจินตนาการ หรือสมมุตินะคะสมมุติ หากมีสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็นผู้กระทำหรือไม่ก็ตาม เราลองคิดว่า “ถ้าหากเป็นเราจะรู้สึกอย่างไร” หรือ “ถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร” เท่านั้นเอง เชื่อไหมว่า หากเราฝึกคิดบ่อยๆ สมมุติบ่อยๆ เราจะเข้าใจความรู้สึกคนอื่น เกิดความเห็นอกเห็นใจ และกลัวการกระทำที่จะไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กลายเป็นคนระมัดระวังในการกระทำของตนเอง จึงเรียกได้ว่า คนที่ระลึกถึงคำว่า เอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่ตลอดเวลาเป็นคนมีภูมิคุ้มกันความเห็นแก่ตัวที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
                   และแล้วก็ถึงเวลาแห่งการนำเสนอวิธีการนำไปอบรมสั่งสอนเด็กในปกครองหรือนักเรียนที่น่ารักของคุณ ดังนี้
1. เมื่อเจอสถานการณ์จริง หมั่นถามเขาด้วยคำถาม “ถ้าเป็นลูกจะรู้สึกอย่างไร”็ก็ก
2. เมื่อเจอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น ให้สมมุติเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับลูก และหมั่นถามเช่นกันด้วยคำถาม “ถ้าเป็นลูกจะรู้สึกอย่างไร”
3. สิ่งสำคัญที่สุดคือ สมมุติบ่อยๆ ว่า “ถ้าเป็นลูกจะรู้สึกอย่างไร” การทำซ้ำๆ จะกลายเป็นนิสัย ส่งผลให้เขาสามารถตั้งคำถามได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อต้องเจอเหตุการณ์ หรือเมื่อเขาต้องการจะกระทำการใดๆ เขาจะรู้สึกถึงความรู้สึกผู้อื่นก่อนเสมอ เช่น เมื่อเขาเก็บสตางค์ได้ในบริเวณโรงเรียน เขาอาจเลือกที่จะเก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่หากเขาถูกฝึกให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาจะตั้งคำถามตัวเองอัตโนมัติว่า “หากเราเป็นเจ้าของสตางค์นั้น ซึ่งเราทำมันหาย เราจะรู้สึกอย่างไรนะ” แน่นอนว่าเขาต้องเสียใจ และเขาจะต้องนำส่งครูเพื่อคืนให้เจ้าของ

                     เด็กที่นึกถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อนเสมอ มักเป็นเด็กที่มีจิตใจดี รู้จักเห็นใจผู้อื่น ไม่กล้าทำในสิ่งที่คิดว่า “หากเป็นเรา เราคงเสียใจ” “หากเป็นเรา เราคงลำบาก” ฯลฯ เด็กประเภทนี้จะไม่เห็นแก่ตัว หากเราฝึกเด็กในวันนี้ให้เป็นผู้มีจิตใจแห่งความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เชื่อได้เลยว่าสังคมวันนี้และอนาคตจะต้องน่าอยู่อย่างแน่นอน
                               
                                                                       21.42 น.  13 ก.ค. 2557  พิมพ์มาตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น